Hot Topic!

ถึงเวลา Disrupt คอร์รัปชันแล้ว

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 19,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ - -

 

คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง : โดย พิษณุ พรหมจรรยา

ที่ปรึกษาแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)

 

ในบทความตอนที่แล้วได้เล่าถึงประสบการณ์การขับเคลื่อนกระแสต่อต้านคอร์รัปชั่นของเกาหลีใต้ไปแล้ว ในสัปดาห์นี้จะว่ากันต่อถึงเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับเรื่อง Disruption จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญของไทยที่มีการพูดถึงในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี National Conference on Collective Action against Corruption ครั้งที่ 9 ที่ CAC จัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว

 

ในช่วงการเสวนากลุ่มในหัวข้อ "New Forces: How technology disrupts corruption" คุณนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประจำประเทศไทย ได้พูดถึงการนำ Blockchain และเทคโนโลยีสมัยใหม่อื่นๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการ Disrupt คอร์รัปชั่นว่า การนำเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการทำงาน นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดปริมาณการใช้กระดาษในขั้นตอนต่างๆ แล้วยังเป็นการช่วยในเรื่องความโปร่งใสของข้อมูลและการทำงานได้อีกด้วย เนื่องจากเครื่องจักรเหล่านั้นจะตัดสินใจบนพื้นฐานของ กฎเกณฑ์หรือหลักเกณฑ์ที่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งต่างจากการ ตัดสินใจของมนุษย์ที่บางทีอาจจะไม่เที่ยงตรง ซึ่งการทำงานที่มีประสิทธิภาพนี้เอง ที่เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสหรือป้องกันการเกิดปัญหาคอร์รัปชั่นได้

 

นอกจากนี้ การจัดเก็บข้อมูลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะสามารถช่วยทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปัจจุบันพบว่าข้อมูลที่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเก็บอยู่นั้นมีลักษณะกระจัดกระจาย แม้ว่าจะอยู่ในองค์กรเดียวกัน แต่เมื่ออยู่ต่างแผนกกันก็มักจะมีการจัดเก็บข้อมูลแยกกัน และไม่ได้มีการแบ่งปันหรือจัดเก็บรวมไว้ในที่เดียวกัน

 

ในเรื่องนี้ ประชาชนทั่วไปก็คงเคยมีประสบการณ์จากการใช้บริการหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่มักกำหนดให้ต้องกรอกข้อมูลเดิมซ้ำๆ กัน หากข้อมูลเหล่านั้นซึ่งเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน แต่ถูกเก็บแยกกันระหว่างหน่วยงาน ผู้ดูแลข้อมูล หรือผู้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลก็จะมีมากขึ้นตามการกระจายของข้อมูลด้วย ซึ่งอาจถูกใช้เป็นช่องทางนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นได้ เนื่องจากมีคนหลายคนที่มีสิทธิใน การเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลเหล่านั้น

 

คุณนนทวัฒน์ กล่าวว่า "Blockchain อาจจะเป็นระบบที่ช่วยแก้ปัญหาข้างต้นได้ เนื่องจาก Blockchain เป็นระบบที่ทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ในที่เดียวกัน และการเข้าถึงหรือแก้ไขข้อมูลก็จะถูกจำกัดไว้เฉพาะบุคคล เป็นการช่วยป้องกันบุคคลที่ไม่มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเข้าไปจัดการแก้ไขหรือนำข้อมูลไปใช้ได้"

 

ทั้งนี้ ระบบการทำงานของ Blockchain จะช่วยให้ฝ่ายต่างๆ หรือหน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้โดยใช้และแบ่งปันข้อมูลชุดเดียวกัน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลจากการกำหนดสิทธิและจำนวนของผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูล นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสเนื่องจากสามารถตรวจสอบเส้นทางของข้อมูลได้ และลดโอกาสการเกิดคอร์รัปชั่นในกระบวนการทำงานลง

 

ในปัจจุบัน มีรัฐบาลของหลายๆ ประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ เกาหลี และซาอุดิอาระเบีย ที่ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการดำเนินงานแล้ว สำหรับในประเทศไทยของเรานั้น ได้ยินภาครัฐก็กำลังให้ความสนใจในการนำระบบ Blockchain เข้ามาใช้ในการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น แต่จะเกิดขึ้นได้จริง และเร็วแค่ไหนเราคงต้องมาลุ้นกันต่อไป

 

ลำดับถัดมา คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัท ข้อมูลเครดิต แห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ได้พูดถึงการนำ Credit Profile ของตัวบุคคล หรือองค์กรธุรกิจมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐว่า

 

ข้อมูลเครดิตบูโรเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับกิจการหรือองค์กร

 

ต่างๆ ที่กำลังจะรับบุคคลใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยกรองคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะรับเข้ามาทำงาน เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้สามารถบ่งบอกถึงการบริหารจัดการทางการเงินและพฤติกรรมในการ ชำระหนี้ของบุคคล รวมถึงสามารถติดตามพฤติกรรมในการทำงานของบุคคลต่อองค์กรในอดีตที่ผ่านมาได้ด้วย

 

ดังนั้น ข้อมูลเครดิตบูโรจึงสมควรมีการเปิดเผยอย่างเหมาะสมเพื่อที่จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรในภาครัฐ

 

ในช่วงท้ายของการเสวนากลุ่ม ได้มีการถามถึงสิ่งที่ผู้ร่วมเสวนาอยากเห็น จากผู้บริหารประเทศในการที่จะนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของไทย ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็ออกมาในแนวทางเดียวกัน ซึ่งสรุปได้ว่าในฐานะที่ภาครัฐเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก จึงควรมีบทบาทเป็นหน่วยงานที่คอยอำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) กลุ่มต่างๆ สามารถนำ ข้อมูลที่จัดเก็บไว้โดยภาครัฐไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยในการนำข้อมูลต่างๆ มาใช้

 

นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนายังเห็นว่าผู้นำของประเทศควรปรับมุมมองและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของภาครัฐ และลดความซ้ำซ้อนในกระบวนต่างๆ ลง นอกจากนี้ ยังควรจัดให้มีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ในที่เดียวกัน เพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ตาม ในการปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาครัฐนั้น สิ่งสำคัญก็คือ ต้องมองจากมุมของผู้รับบริการมากขึ้น เพื่อพัฒนาระบบการบริการให้เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ในตอนหน้า ซึ่งเป็นตอนจบของบทความชุดนี้ ผมจะสรุปเนื้อหาจากปาฐกถาพิเศษโดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) (ACT) ในหัวข้อเผ็ดร้อนที่ใช้ชื่อว่า "เสือดำ, หมูป่า, และนาฬิกาเพื่อน..." และข้อมูลที่นำเสนอโดย ดร.ธานี ชัยวัฒน์  ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับ "การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตรวจหาความขัดแย้งของผลประโยชน์" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่มีประสิทธิภาพในการใช้  Big Data ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้กำหนดนโยบาย คอยติดตามกันต่อไปนะครับ

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw